เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา
นายอัฐพล ไชยอนันต์ นายกสมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย ท่านอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2563 สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรร-สื่อผสม) และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย คณะกรรมการบริหารสมาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครู นักเรียนโรงเรียนราชประนุเคราะห์ 23 จังหวัดพิษณุโลก ให้การต้อนรับ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในพิธีเปิดโครงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะให้กับเยาวชนและชุมชนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ด้วยองค์ความรู้ในพื้นที่อย่างยั่งยืน (Art For Youth and Community) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกเพศทุกวัยในสังคม ที่สำคัญคือการเพิ่มโอกาสให้กับคนที่มีความขาดแคลนในพื้นที่ห่างไกล โดยใช้พื้นที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์เป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในชุมชน มีเป้าหมายมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งแน่นอนว่า ต้องหาบริบทอย่างละเอียดในแต่ละพื้นที่จึงจะสามารถทำกิจกรรมที่ตอบรับกับเป้าหมายที่วางไว้ได้คณะทำงานโครงการกำหนดแนวทางในการทำงานด้วยการลงสำรวจพื้นที่แต่ละแห่งเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนควบคู่ไปกับการศึกษา และทำความเข้าใจนักเรียนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ในแต่ละพื้นที่จากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และวางแผนในการจัดทำการฝึกอบรมให้กับชุมชน โดยอาศัยวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ นำมาพัฒนาสู่รูปแบบการเรียนรู้การใช้สีและวัสดุในการทำงานศิลปะของพื้นที่นั้น เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของชุมชนในแต่ละพื้นที่จึงมีการกำหนดรูปแบบการทำงานของกลุ่มเป้าหมาย อันประกอบด้วย นักเรียน ครอบครัว ครูคนในชุมชน ผ่านการสร้างงานศิลปะร่วมกัน เป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำงานระหว่างคนต่างวัย การทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การรู้จักบริบทของพื้นที่ตนเอง สร้างมิติแห่งความคิดสร้างสรรค์และการเห็นคุณค่าของกันและกัน สามารถสร้างงานศิลปะเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและองค์ความรู้ของชุมชนตนเองได้
โดยโครงการดังกล่าว สมาคมดิจิทัลเพื่อการศึกษาไทย ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ประจำปี 2565 ให้จัดทำโครงการ โดยเป็นการดำเนินกิจกรรมให้กับเยาวชนและชุมชนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 5 แห่งจาก 5 ภาคของประเทศไทย ประกอบด้วย
📍 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 49 จ.ตราด
📍 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 12 จ.สุราษฏร์ธานี
📍 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 33 จ.ลพบุรี
📍 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จ.พิษณุโลก และ
📍 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 32 จ.อุบลราชธานี
ซึ่งทางคณะทำงานของมูลนิธิราขประชานุเคราะห์เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกให้โครงการการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการนี้คณะทำงานยึดหลัก “ลดความเหลื่อมล้ำ” ด้านการศึกษา รายได้สังคม และ “ทำให้เกิดความยั่งยืน” ต่อตัวเด็ก โรงเรียน และชุมชน ดังนั้น หลักในการทำงาน จึงเลือกที่จะสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียน และไม่สร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายให้แก่ตัวเด็กและโรงเรียน โดยการจัดให้มีการผลิตสีธรรมชาติขึ้นมาใช้งานเอง และการจัดอบรมให้ทำงานศิลปะที่ใช้วัสดุและสีจากธรรมชาติรวมทั้งการทำวีดิโอสื่อการสอนมอบให้โรงเรียนไว้ใช้ต่อไป